การตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วยภาพ
คลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI)
การตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วยภาพคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก หรือ Cardiovascular MRI คืออะไร
การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยเครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก เป็นการตรวจหัวใจและหลอดเลือดอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถให้ภาพของหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน โดยผู้ป่วยไม่ต้องได้รับรังสีเอ็กซ์ และสารทึบรังสีเหมือนกับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สามารถสร้างภาพได้ทุกระนาบ และทุกแนวโดยผู้ป่วยไม่ต้องเปลี่ยนท่า นอกจากนี้ยังสามารถสร้างเป็นภาพสามมิติได้อีกด้วย
Cardiovascular MRI สามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจชนิดต่างๆ เช่น ตรวจหาการตีบตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือรอยแผลเป็นที่หัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจวาย และยังสามารถช่วยตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ และหลอดเลือดแดงส่วนปลายในอวัยวะอื่นๆได้ด้วย
ข้อได้เปรียบของ cardiovascular MRI ในการตรวจหาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และพยาธิสภาพของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
Cardiovascular MRI สามารถให้ข้อมูลได้ค่อนข้างครบถ้วนในการตรวจเพียงครั้งเดียว ได้แก่ ขนาด (size), มวล (mass), ความสามารถในการบีบตัว (ejection fraction), ลักษณะพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงการวัดปริมาณแผลเป็นที่เกิดจากการขาดเลือดอย่างรุนแรง ลักษณะหรือพยาธิสภาพของลิ้นหัวใจ และการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะที่หัวใจทำงานมากขึ้น ด้วยวิธีให้ยา Dobutamine หรือ Adenosine (เสมือนกับการดูประสิทธิภาพของหัวใจในขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย) เรียกว่า stress cardiac MRI ซึ่งในอดีตการตรวจให้ได้ข้อมูลเหล่านี้ครบ อาจจะต้องใช้เวลาหลายวันด้วยเครื่องมือหลายชนิด แต่ในปัจจุบัน stress cardiac MRI สามารถให้รายละเอียดข้อมูลดังกล่าวภายในเวลา 45-60 นาทีเท่านั้น
Cardiovascular MRI สามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจชนิดต่างๆ เช่น ตรวจหาการตีบตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือรอยแผลเป็นที่หัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจวาย และยังสามารถช่วยตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ และหลอดเลือดแดงส่วนปลายในอวัยวะอื่นๆได้ด้วยในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง และสงสัยว่าเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ หรือมีการตีบของหลอดเลือดแดงใหญ่ Cardiovascular MRI สามารถนำมาใช้ตรวจโดยไม่ต้องฉีดสารทึบรังสีที่เป็นอันตรายต่อไต ในผู้ป่วยที่มีปัญหาของไตอยู่เดิม รวมถึงสามารถตรวจเส้นเลือดแดงทั้งตัวได้ในครั้งเดียวกัน
ผู้ป่วยที่ควรได้รับการตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วยเครื่อง Cardiovascular MRI
ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ไม่สามารถทำการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง หรือการสวนหัวใจโดยตรงได้ เนื่องจากมีข้อห้าม เช่น ภาวะไตเสื่อมหรือแพ้สารทึบรังสี
ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยง่าย ซึ่งสงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ผลการตรวจพิเศษอย่างอื่นไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถตรวจพิเศษอย่างอื่นได้ เช่นการเดินสายพาน เป็นต้น โดยสามารถทำการตรวจพิเศษที่เรียกว่า Stress cardiac MRI
ประเมินหลังภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ว่าจะได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยวิธีบอลลูน ใส่ขดลวด หรือทำการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด
ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ผู้ป่วยที่สงสัยก้อนเนื้องอกในหัวใจ
ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะผิดปกติของหลอดเลือดแดงใหญ่ เช่น หลอดเลือดโป่งพอง ฉีกขาด เลือดออกหรือแผลที่ผนังหลอดเลือด
ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะหลอดเลือดแดงที่ไตตีบ เช่น มีความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา
ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน
ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการตรวจด้วยด้วยเครื่อง Cardiovascular MRI
ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจบางรุ่นซึ่งไม่สามารถเข้าสู่สนามแม่เหล็กได้
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแล้วได้รับการใส่คลิป (ชนิดที่ไม่ใช้ไททาเนียม) หนีบเส้นเลือดในสมอง
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมอง (Deep brain stimulator) หรือ เส้นประสาท (Vagal nerve stimulation)
ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยฟังที่ฝังในกระดูกหู (Cochlear implantation)
ผู้ป่วยที่มีโลหะตะกั่วฝังอยู่ในตัว
ผู้ป่วยที่มีโลหะหรือเศษเหล็ก ฝังอยู่บริเวณแก้วตา
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ
งดน้ำและอาหาร 6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ, เซ็นต์ใบยินยอมรับการรักษา
สุภาพสตรีมีครรภ์ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนการตรวจ
ท่านจะถูกขอให้ถอดฟันปลอมออกก่อนเข้าเครื่อง MRI
ต้องถอดเครื่องประดับ อุปกรณ์อิเลคโทรนิค โลหะทุกชนิด เช่น นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรอื่นๆที่ใช้แถบแม่เหล็กบันทึก
สุภาพสตรีควรเช็ดเครื่องสำอางออกก่อนเข้าห้องตรวจโดยเฉพาะสีทาเปลือกตา (Eye shadow) และขนตา (Mascara) เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของโลหะ
เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดของโรงพยาบาล
ระยะเวลาในการตรวจโดยประมาณ 45-60 นาที ขึ้นอยู่กับชนิดของการตรวจ และรายละเอียดต่าง ๆที่แพทย์ต้องการ
การปฏิบัติตัวระหว่างการตรวจ
นักรังสีการแพทย์ประจำห้องตรวจ จะช่วยจัดท่าของท่านบนเตียงตรวจพร้อมแนะนำให้ท่านนอนให้นิ่งที่สุดเพื่อให้ภาพที่ปรากฏมีคุณภาพดีที่สุด
อาจต้องกลั้นหายใจเป็นระยะ ๆ (ครั้งละประมาณ 5-10 วินาที) ระหว่างการตรวจ ขณะตรวจ
เจ้าหน้าที่จะควบคุมเครื่องอยู่ด้านนอก แต่ได้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อใช้คอยติดตามดูผู้ป่วยอยู่ตลอดระยะเวลาการตรวจ และผู้ป่วยเองก็สามารถสื่อสารกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมผ่านทางไมโครโฟนได้ตลอดเวลา
ระหว่างทำการตรวจ ท่านจะได้ยินเสียงดังจากการทำงานของเครื่องเป็นระยะ ช่วงเวลาเสียงดังท่านต้องนอนนิ่งและไม่พูดเพื่อให้ได้ภาพจากการตรวจมีคุณภาพที่ดีที่สุด
ในบางกรณีอาจมีการฉีดสารเปรียบเทียบความชัด (Gadolinium) เข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยเน้นแยกรายละเอียดของโรค
การปฏิบัติตัวหลังการตรวจ
- ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ
- ไม่จำเป็นต้องพักฟื้น หรือนอนโรงพยาบาลหลังการตรวจ
- ถ้าท่านพบอาการผิดปกติหลังการตรวจ ท่านสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ ห้องตรวจ MRI ตึกภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 4 โทรศัพท์ 02-2564-000 ต่อ 80432
การให้บริการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เวลาทำการ :
สถานที่ :
โทรศัพท์ :
ราคา :
วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00น. – 16.00น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
ห้องตรวจภาพหัวใจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตึกภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 4
02-2564-000 ต่อ 80432
โดยทั่วไปอยู่ที่ราคา 14,500 – 18,000 บาท ขึ้นกับชนิดของการตรวจ
สามารถเบิกได้ตามสิทธิราชการ
(โปรดตรวจสอบราคาปัจจุบันอีกครั้งเนื่องจากราคาดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยมิได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าทางเว็บไซต์)