ภาวะหัวใจล้มเหลว

โรคหัวใจล้มเหลว คืออะไร

ภาวะหัวใจล้มเหลว (หรือที่เรียก เป็นภาษาอังกฤษว่า ฮาร์ท-เฟล-เลีย, Heart failure) นั้นเป็นภาวะที่หัวใจมีความอ่อนแรงและไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ตามที่ต้องการ

ทำไมหัวใจจึงทำงานได้ล้มเหลว ภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถเกิดได้จากสภาวะทางโรคหัวใจหลายชนิด ซึ่งได้แก่

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือขาดเลือด
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคลิ้นหัวใจ
  • โรคของกล้ามเนื้อหัวใจเองซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า คาร์-ดิ-โอ-ไม-ออป-พาตี้ (cardiomyopathy)
  • โรคการอักเสบและการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจหรือของลิ้นหัวใจ
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การได้รับสารพิษต่างๆ เช่น ยาบ้า การดื่มสุราและแอลกอฮอล์

จะมีอาการอย่างไร

  • เหนื่อยง่ายหรือไอเมื่ออกแรงหรือออกกำลังหรือขณะพัก
  • หายใจลำบาก แน่น หรือหายใจเหนื่อยหอบเมื่อนอนราบ และอาการอาจดีขึ้นเมื่อลุกขึ้นนั่ง
  • ตื่นขึ้นมาเมื่อนอนหลับไปแล้วเพราะเหนื่อย
  • เพลียไม่มีแรง เหนื่อยง่าย
  • หน้าแข้งหรือข้อเท้าบวม
  • แน่นในท้องเหมือนมีน้ำในท้อง
  • น้ำ หนักตัวเพิ่มขึ้นจากการคั่งของน้ำ (ไม่ ได้รับประทานอาหารมากขึ้น)

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือที่ดีระหว่างทีมแพทย์และพยาบาลกับผู้ป่วย ปัจจุบันมีการรักษามากมายขึ้นกับความเหมาะสมของสภาวะของผู้ป่วยในแต่ละรายไป การรักษาดังกล่าวได้แก่ การรักษาด้วยยา การใส่เครื่องกระตุ้น CRT การใส่เครื่องป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจร หรือการปลูกถ่ายหัวใจ เป็นต้น

ผู้ป่วยสามารถรักษาตัวเองได้อย่างไร

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวัน และ รับประทานยาตามที่แพทย์และพยาบาลสั่งอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการปฏิบัติตัวดังกล่าวจะส่งผลคุณจะรู้สึกมีอาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  2. คุณจะต้องสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิดว่าคุณมีอาการผิดปกติซึ่งต้องรายงานให้แพทย์หรือพยาบาลทราบหรือไม่
  3. คุณจะต้องมาติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้งเพื่อให้แพทย์ได้ประเมิน ปรับเปลี่ยนยา และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

ปรับตัวอย่างไรเพื่อให้รู้สึกสบายและอยู่กับโรคหัวใจล้มเหลวนี้ได้

  • ชั่งน้ำหนักตัวทุกวัน ! คุณต้องชั่งน้ำหนักตัวเองกับเครื่องชั่งเครื่องเดียวกันเป็นประจำทุกเช้าหลังจากคุณถ่ายปัสสาวะในยามเช้า (แต่ควรชั่งน้ำหนักก่อนรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำในยามเช้า) จดบันทึกน้ำหนักตัวคุณในสมุดบันทึกน้ำหนักตัวซึ่งทาง heart failure clinic ได้จัดให้ หากคุณมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มากกว่าหรือเท่ากับ 1.5 กิโลกรัมภายในเวลา 2 วัน จะหมายความว่าคุณมีสารน้ำคั่งอยู่ในร่างกายมากกว่า ปกติ ซึ่งหากคุณมีน้ำหนักเกินกำหนดดังกล่าวคุณควรโทรหาพยาบาล ประจำคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวหรือปรึกษาแพทย์
  • ตัดใจจากความเค็ม ! การกินเค็มหรือเกลือ (หรือที่เรียกว่าโซเดียม) จะทำให้ร่างกายมีภาวะคั่งของสารน้ำ เนื่องจากสัดส่วนน้ำจะแปลผันตรงกับสัดส่วนเกลือ การคั่งของน้ำและเกลือจะทำให้หัวใจของคุณทำงานหนักขึ้นและหนักเกินไป ยังส่งผลให้หัวใจอ่อนแอลง ให้ทำตามคำแนะนำเรื่องเกลือและความเค็มของอาหารตามเอกสารให้ความรู้และการแนะนำจากพยาบาลคลินิกหัวใจล้มเหลว โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวจะอนุญาตให้รับประทานเกลือได้ไม่เกิน 1.5 ถึง 2 กรัม (หรือ 1500-2000 มิลลิกรัม) แนะนำให้คุณอ่านฉลาก ข้างผลิตภัณฑ์อาหาร และมองหาปริมาณ โซเดียม
  • คุณต้องออกกำลังกายบ้าง (โดยไม่หักโหม) และ ไม่กิน-นั่ง-นอนกับเตียง! หัวใจของคุณจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พยาบาลและแพทย์ประจำคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถให้คำแนะนำหรือส่งคุณปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลัง (Cardiac rehab) ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น
  • ยา ! ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวส่วนใหญ่ต้องรักษาด้วยยา และมีผู้ป่วยจำนวนมากซึ่งต้องรับประทานยาหลายชนิด คุณจะต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ให้นำชื่อยาเป็นภาษาอังกฤษและขนาดของยาดังกล่าวที่รับประทานมาพบแพทย์หรือพยาบาลประจำคลินิกหัวใจล้มเหลวทุกครั้ง คุณควรทำความเข้าใจยาแต่ละชนิดว่าจำเป็นต่อคุณอย่างไร หากคุณมีอาการซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยาควรรายงานอาการดังกล่าวให้แพทย์ทราบทันที ห้ามลืมรับประทานยาหรือจัดสรรยายามที่คุณต้องเดินทางไกลหรือท่องเที่ยว – ห้ามนำยาดังกล่าวใส่ในประเป๋าเพื่อ load ไปกับสายการบิน ให้พกติดตัวตลอดเวลา
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ สุรา – เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้การบีบตัวของหัวใจจองคุณลดประสิทธิภาพ
  • ห้ามสูบบุหรี่ หากคุณยังตัดใจจากบุหรี่ไม่ได้ กรุณาติดต่อแพทย์และพยาบาลคลินิกหัวใจล้มเหลวเพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการเลิกบุหรี่ บุหรี่จะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับตัวเองถึงแม้จะเป็นโรคหัวใจล้มเหลว
  • พักผ่อน หาเวลาผ่อนคลาย หางานอดิเรกซึ่งคุณมีความสุข การอ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ เย็บปักถักร้อย หรือการเรียนคอมพิวเตอร์ เป็นกิจกรรมซึ่งสามารถทำให้คุณมีความสุขเล็กๆน้อยๆได้ · อนุญาตให้ลูกหลาน คนในครอบครัว หรือ เพื่อนช่วยคุณทำงานซึ่งต้องใช้กำลังมาก เช่น การทำสวน ซักผ้า ทำกับข้าวหรือทำงานบ้าน
  • คุณจะต้องไม่ทำตนเองให้ตกอยู่ในความเครียด กังวล พยายามพักผ่อนและผ่อนคลาย

สัญญาณเตือน นอนโรงพยาบาลเพราะน้ำท่วมปอด

หากมีอาการต่อไปนี้ให้โทรศัพท์ถึงพยาบาลประจำคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว หรือมาพบแพทย์

  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า1.5 กิโลกรัมภายในเวลา 2 วัน
  • ข้อเท้าหน้าแข้ง บวมมากขึ้น
  • เหนื่อยหอบเวลานอนราบ
  • เหนื่อยหอบผิดปกติ
  • เพลียมากผิดปกติ
  • ปวดศีรษะ วิงเวียนจะเป็นลม
  • รู้สึกกระสับกระส่ายไม่สบายตน
  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
  • มีอาการผลข้างเคียงจากยาที่รับประทาน
  • เจ็บ หรือ แน่นปบริเวณหน้าอก เมื่อออกแรง และอาการดีขึ้นเมื่อนั่งพัก หรืออมยาอมใต้ลิ้น อาการที่ควรไปพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินโดยทันที
  • แน่นหน้าอกเป็นอย่างมาก หายใจไม่ออก
  • หอบเหนื่อยมาก
  • เหงื่อออกมากผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ
  • พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง หน้าเบี้ยว
  • เป็นลมหมดสติ